วิธีดูภาพเรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

ปัจจุบันเรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยามีอยู่ทั่วประเทศไทยประมาณ 25 สถานี แต่ที่ออนไลน์จริงๆ ประมาณ18 สถานี ตามที่ปรากฏในเว็บเรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา www.weather.tmd.go.th เรดาร์ตรวจอากาศแบบ Doppler radar ที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาใช้จะเป็นย่านความถี่ C Band ความถี่ 5.6 Ghz.กำลังส่ง 250 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นความถี่ที่ทาง กสทช. อนุญาติให้ใช้งานในการตรวจสภาพอากาศด้วยเครื่องเรดาร์ ปัจุบันเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาจะปรับปรุงเป็นแบบ dual polarizationเกือบหมดแล้ว และจะทยอยปรับปรุงให้เป็นแบบ dual polarization ทุกสถานี

ประโยชน์ของเรดาร์ตรวจอากาศนั้นก็คือ ใช้ตรวจจับหาบริเวณที่มีฝนหรือฝนฟ้าคะนอง รวมทั้งรายงานความแรงทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนนั้นๆด้วย ใช้ตรวจและเฝ้าติดตามพายุ ตรวจวัดทิศทางและความเร็วของลมชั้นบน ใช้พยากรณ์อากาศและเตือนภัยน้ำท่วม

สำหรับภาพแสดงผลการตรวจอากาศด้วยเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยานั้นใน www.weather.tmd.go.th จะแสดงผลการตรวจกลุ่มฝน แสดงข้อมูบเป็นแบบ PPI คือการแสดงการแสกน 1 มุมยก รอบตัวเอง โดยมุมที่เอามาแสดงในเว็บส่วนมากจะใช้มุม 0.5 องศา การอ่านค่าของสีของกลุ่มฝนนั้น ให้ดูแสกลสีด้านข้างเปรียบเทียบ ซึ่งจะเปรียบเทียบดังนี้
20 dBZ = ฝนกำลังอ่อนมากแทบจะวัดปริมาณฝนไม่ได้
30 dBZ = ฝนกำลังอ่อน (ประมาณ 3 มม./ชม.)
40 dBZ = ฝนกำลังปานกลาง (ประมาณ 12 มม./ชม.)
50 dBZ = ฝนกำลังแรง (ประมาณ 50 มม./ชม.)
55 dBZ = ฝนกำลังแรงมาก (ประมาณ 100 มม./ชม.)
ถ้าผลการตรวจมีค่ามากกว่า 55 dBZ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามีลูกเห็บตก ในบางครั้งเรดาร์ตรวจเจอกลุ่มฝน แต่ปรากฎว่าตรงสถานที่นั้นฝนไม่ตก บางครั้งอาจจะเป็นฝนอ่อนที่ตกไม่ถึงพื้น หรือในบางครั้งในการตรวจแค่มุมเดียวจะไม่ครอบคลุมกลุ่มฝนทั้งหมด ภาพผลการตรวจเรดาร์ในเว็บเป็นเพียงแค่ข้อมูลผลการตรวจแค่มุมยกเดียวเท่านั้น แต่ในการตรวจจริงทางกรมอุตุนิยมวิทยาตรวจหลายมุมยก เพื่อใช้ในการรายงานการเกิดฝนตกและติดตามกลุ่มฝน และที่สำคัญวันและเวลาที่แสดงในเว็บไซด์ www.weather.tmd.go.th เป็นแบบ UTC ถ้าเทียบเป็นเวลาปัจจุบันต้องบวกเพิ่มอีก 7 ชั่วโมง